วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

วิธีเลี้ยงเบื้องต้น

       


          ปลาทอง เป็นปลาสวยงามที่เลี้ยงไม่ยาก แต่ก็มีไม่น้อยที่เสียใจจากการเลี้ยงปลาทอง เนื่องจากปลาทองจัดเป็นปลาที่ตายได้ง่ายถ้าหากเราไม่รู้วิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง  ซึ่งวิธีการเลี้ยงนั้น เริ่มต้นง่ายๆจาก 'สถานที่' ที่จะเลี้ยงปลาทอง


   สถานที่

     ก่อนซื้อตู้ปลา ควรกำหนดจุดหรือบริเวณภายในบ้านหรืออาคารสำหรับเป็นที่ตั้งตู้ปลาเสียก่อน วัดขนาดความกว้างความสูงของสถานที่ ให้แน่นอนแล้วจึงไปหาซื้อตู้ที่มีขนาดพอเหมาะกับสถานที่ตั้ง 
   จุดที่เหมาะสำหรับตั้งตู้เลี้ยงปลาทองควรเป็นที่อากาศถ่ายเทสะดวกถ้าได้ที่มีแสงแดดตอนเข้าส่องถึงจะดีมาก เพราะแสงแดดยามเช้าจะทำให้สีของปลาเข้มขึ้น ตรงกันข้ามกับแสงแดดยามบ่ายจะทำให้สีของปลาจางลงนอกจากนั้นแล้วจุดตั้งตู้เลี้ยงปลาควรอยู่ตรงที่สามารถขับถ่ายน้ำได้สะดวก 




   ภาชนะที่ใช้เลี้ยง 

    ในการเลี้ยงปลาทองให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีสีสันสดใส จำเป็นต้องใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่สถานที่เลี้ยง และภาชนะที่ใช้เลี้ยง โดยทั่วๆไปมักนิยมเลี้ยงในตู้กระจกใส หรือ อ่างซีเมนต์ หากเลี้ยงในตู้กระจกควรเลือกขนาดที่มีความจุของน้ำอย่างน้อย 40 ลิตร ใช้เลี้ยงปลาทองได้ 12 ตัว แต่ถ้าเลี้ยงในอ่างซีเมนต์ ต้องคำนึงถึงแสงสว่าง ควรเป็นสถานที่ไม่อับแสง และไม่จ้าจนเกินไป ทั้งนี้ ควรใช้ตาข่ายพรางแสง ประมาณ 60% ปิดปากบ่อ ส่วนสภาพของบ่อเลี้ยงควรสร้างให้ลาดเอียง เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 

   การจัดเตรียมตู้ปลา

    ตู้ปลาที่ซื้อมาใหม่จะต้องล้างทำความสะอาด ใส่น้ำแช่ทิ้งไว้ 2-3 วัน ระหว่างที่ใส่น้ำแช่ไว้ควรตรวจสอบดูว่ามีการรั่วซึมที่ใดบ้างหรือเปล่าถ้ามีก็จัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นถ่ายน้ำที่แช่ไว้ออกให้หมด เช็ดให้แห้งแล้วนำไปวางเข้าที่ที่เตรียมไว้ เวลาเคลื่อนย้ายพยายามอย่าจับขอบด้านบนแล้วยกเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้แผ่นกระจกด้านข้างโย้ไปมาจนกาวยึดรอยต่อเกิดการรั่วซึมหรือฉีกขาดได้ แล้วจึงเตรียมแผ่นกรองซึ่งก่อนนำมาใช้จะต้องทำความสะอาด ถ้าไม่ทำอาจเป็นอันตรายต่อปลา จากนั้นนำแผ่นกรองประกอบเข้ากับท่อระบายอากาศ ต่อสายยางจากปั้มลมเข้ากับท่อลมข้างท่อระบายอากาศ แล้วเอาแผ่นกรองวางแนบกับพื้นตู้ เสร็จแล้วให้เตรียมพื้นตู้ นิยมใช้ทรายหยาบหรือกรวดขนาดเล็ก ไม่ควรใช้ทรายละเอียด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการกรองลดลงตกตะกอนและเศษของเสียยังตกค้างอยู่บนพื้นผิวทราย เป็นสาเหตุให้น้ำขุ่น สำหรับปลาทองซึ่งเป็นปลาที่ชอบคุ้ยหาอาหารที่พื้นจึงควรใช้กรวดขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย และควรเลือกกรวดที่ไม่มีเหลี่ยมแหลมคมและปราศจากเศษเปลือกหอย ป้องกันปลาทองบาดเจ็บเมื่อว่ายไปชน และต้องล้างให้สะอาดจนหมดเพื่อกำจัดความเค็มที่ติดมากับกรวด แล้วไปเทใส่ตู้กลบทับแผ่นกรองให้มิดและหนาอย่างน้อย 3 นิ้ว 

   น้ำ
    น้ำประปาที่ใช้เลี้ยงต้องระวังคลอรีน ควรเตรียมน้ำก่อนนำมาใช้เลี้ยงปลาทุกครั้ง โดยเปิดน้ำใส่ถังเปิดฝาวางตากแดดทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนระเหย หรืออาจติดตั้งเครื่องกรองน้ำใช้สารเคมีโซเดียมไธโอซัลเฟตละลายลงในน้ำ มีคุณสมบัติในการกำจัดคลอรีน แต่ควรดูสัดส่วนในการใช้ เพราะสารเคมีมีผลข้างเคียงต่อปลาหากใช้ไม่ถูกวิธี ส่วนเรื่องอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมคือ 28-35 องศาเซลเซียส ควรรักษาอุณหภูมิของน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว หากซื้อปลาบรรจุถุงมา เวลาจะปล่อยปลาลงในอ่างเลี้ยง ควรแช่ถุงลงในอ่างเลี้ยง 10-15 นาที เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำในถุงกับในอ่างถ่ายเทเข้าหากันแล้วค่อยปล่อยปลาลงไป และอย่างน้อยในภาชนะเลี้ยงต้องมีการหมุนเวียนเบา ๆ ไม่ว่าจะผ่านระบบกรองน้ำ น้ำพุ น้ำตก หรือปั๊มน้ำ เพราะการหมุนเวียนของน้ำ เป็นการทำให้เกิดการเติมออกซิเจน และปลาทองขนาดใหญ่ย่อมต้องการออกซิเจนมากกว่าปลาเล็ก 

   อาหาร
    ควรให้อาหารสำเร็จรูป วันละ 1-2 ครั้ง โดยการให้แต่ละครั้งไม่ควรมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ปลาทองอ้วน และเสี่ยงตายได้ ส่วนอาหารเสริมอย่างลูกน้ำและหนอนแดง สามารถให้เสริมได้โดยดูความอ้วน และความแข็งแรงของตัวปลา สังเกตได้จากบริเวณโคนหางจะใหญ่ แข็งแรง และมีความสมดุลกับตัวปลา แล้วเมื่อมองจากมุมด้านบนจะสังเกตเห็นความกว้างของลำตัวอ้วนหนาและบึกบึน ขณะที่สีบนตัวปลาจะต้องมีสีสดเข้ม

   อาการป่วยของปลาทอง
    ในขณะที่ปลาป่วย ปลาจะมีลักษณะและอาการว่ายน้ำผิดปกติ ซึ่งสามารถสังเกตได้ดังนี้
        - มีอาการเซื่องซึม อาจว่ายน้ำเสียดสีหรือถูกับก้นบ่อ หรือว่ายมาออกันที่ผิวน้ำ 
        - ปลาที่เป็นโรค ขณะว่ายน้ำจะไม่กางครีบออก ครีบอาจจะแหว่งหายไป
        - เหงือกบวมแดงเห็นชัดเจน เนื่องจากหายใจไม่สะดวก 
        - มีเลือกออกตามเกล็ด หรือมีบาดแผลตามตัว
        - สีซีดกว่าปกติ
        - ปลาขับเมือกออกมามากผิดปกติ น้ำมีสีขาวขุ่น ภาชนะที่ใช้เลี้ยงปลามีเมือกจับเต็มไปหมด
        - เกล็ดพองลุกชัน ท้องโต ทั้งๆที่ไม่มีไข่
        - โดยปกติปลาทองจะเป็นปลาที่กินอาหารเก่งและกินเกือบตลอดเวลาไม่ค่อยหยุด ถ้าปลาไม่ยอม              กินอาหาร แสดงว่าปลาอาจป่วย แต่ถ้าช่วงอากาศหนาว หรืออากาศค่อนข้างเย็น ปลาจะไม่กิน                อาหารเป็นเรื่องปกติ
        - ปลาเสียการทรงตัวเกิดจากถุงลมผิดปกติ อาจว่ายน้ำหมุนควงหรือว่ายน้ำแบบบังคับทิศทางไม่ได้ 

   สาเหตุของอาการป่วย
        - น้ำ ถ้าปล่อยให้น้ำเสียโดยไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ อาหารตกค้างมาก ทำให้ปลาหายใจลำบากอาจเกิด             โรคได้ เนื่องจาก pH ของน้ำเปลี่ยนแปลง น้ำฝนที่ตกลงมาใหม่ก็เป็นสาเหตุทำให้ pH                                เปลี่ยนแปลงเช่นกัน
        - อุณหภูมิและระดับออกซิเจนในน้ำ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำที่ปลาอาศัยอยู่อย่าง               รวดเร็ว (เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิเกิน 5 องศาเซลเซียสในเวลาสั้นๆ) ปริมาณออกซิเจนใน             น้ำลดลง ส่งผลให้ปลาอ่อนเพลีย มีภูมิคุ้มกันลดลง
        - ก๊าซต่างๆที่เกิดจากการหมักหมมของอาหารและสิ่งที่ปลาขับถ่ายออกมา เกิดก๊าซ                                   คาร์บอนไดออกไซด์ และแอมโมเนียที่เป็นพิษต่อปลา
        - พาหะนำเชื้อโรค ลูกน้ำ หนอนแดง ไรแดง อาจนำเชื้อโรคและปรสิตบางตัวมาสู่ปลา 
        - การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ร่วมกับปลาที่เป็นโรค จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคได้ ควรมีบ่อเฉพาะ                 สำหรับรักษาโรคและแยกอุปกรณ์ไว้ต่างหาก



                การเลี้ยงปลาทองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขอแค่มีความรักและใส่ใจมัน ก็เพียงพอที่จะก้าวข้ามอุปสรรคทุกอย่างได้อย่างสบาย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น